ร่วมกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

                          ในเวลาต่อมาเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นพระยาวชิรปราการครองเมืองกำแพงเพชร  หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิด  และเป็นเวลาที่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา  พระยาวชิรปราการต้องอยู่ในกรุงช่วยรบพม่า  เมื่อเห็นว่ากำลังข้าศึกมากมายที่จะรักษากรุงได้  พระยาวชิรปราการจึงพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา  หลวงพรหมเสนา  หลวงราชเสน่หา  ขุนอภัยภักดี  หมื่นราชเสน่หา  พระเชียงเงิน  และพลทหารไทยจีนประมาณ ๕๐๐ คน  พร้อมอาวุธออกรบกับพม่า  หลวงพิชัยอาสานำทางต่ฝ่ายพม่าเปิดทางให้พระยาวชิรปราการออกมาตั้งค่ายพักอยู่ที่บ้านพรานนก  ได้ปะทะกับพม่าอีก  เข้าต่อสู้กัน  ทัพของพระยาวชิรปราการได้ตีฝ่าออกไปอีก  ไปถึงค่ายของขุนหมื่นพันทนายบ้านซึ่งต่อต้านไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่ง  พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและทหารหาญ  เข้าตีค่ายของขุนหมื่นทนาย  ได้ช้างม้าอาหารพอสมควรแล้วได้ยกไปตั้งหลักที่เมืองปราจีน  ได้มีกองทัพพม่ายกติดตามมาอีก  ก็ถูกทัพไทยซุ่มชิงสกัดเอาไว้  ทัพไทยจึงเดินทางถึงเมืองระยอง

                          เจ้าเมืองระยองได้พาเจ้าพนักงานออกต้อนรับ  แต่มีแผนจะลอบทำร้ายภายหลัง  ทัพไทยรู้ตัวเสียก่อนคอยระมัดระวังตัวในเวลากลางคืนทางการเมืองระยองจึงเข้าโจมตีพระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสานายทหารอีก ๑๕ นาย  ออกปะทะกับข้าศึก  หลวงพิชัยอาสาสามารถตัดศีรษะขุนว่าเมืองด้วงได้  พระยาวชิรปราการจึงชมว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมเหมือนพระยาสีหราชเดโช (น้อย ยะทิปะ)  ทหารคู่พระทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  จากระยองจึงมุ่งไปจันทบุรี  เพราะเจ้าเมืองจันทบุรีคุ้นเคยกับพระยาวชิรปราการ  เมื่อครั้งเป็นมหาดเล็กด้วยกัน  ทั้งนี้เพื่อรวบรวมคนกลับไปตีพม่าที่กำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่

                          เจ้าเมืองจันทบุรีตอนแรกเห็นดีด้วย  แต่ตอนหลังกลับคิดร้ายต่อทัพไทย  พระยาวชิรปราการจึงตัดสินใจเข้าตีเมืองจันทบุรีโดยขี่ช้างพังประตูให้หลวงพิชัยคุมทหารเดินเท้าในเวลาตี ๓ ก่อนเข้าตีสั่งให้ทุกคนทุบหม้อข้าวหม้อแกงไม่ให้เหลือ  เพื่อเข้าเมืองจันทบุรีให้ได้  และเข้าได้เป็นผลสำเร็จ  เมื่อช้างพังประตูเมือง  หลวงพิชัยอาสาก็คุมทหารกรูเข้าเมืองผู้คนอลหม่าน  เจ้าเมืองจันทบุรีพาครอบครัวหนีไปทางปากน้ำพุทไธมาศ  หลวงพิชัยอาสาได้ตัดศีรษะหมื่นซ่องผู้ยุยงเจ้าเมืองจันทบุรีได้ (ในเวลานั้นพระวชิรปราการได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าตากแล้ว)

                          เมื่อตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว  ก็เท่ากับเป็นที่ตั้งหลักพักทัพสะสมเสบียงอาหารสรรพาวุธ ช้าง  ม้า  และทหาร  พักทัพอยู่จันทบุรี ๗ เดือน  ได้ต่อเรือขึ้นประมาณ ๑๐๐ ลำ  ได้ทราบข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว  เจ้าเมืองตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้คิดตั้งตนเป็นใหญ่  แบ่งออกกันเป็นก๊กเป็นเหล่ารบพุ่งกันเอง

                          เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้  ทำให้พระเจ้าตากสินมหาราชตรัสแก่บรรดาทหารหาญและประชาชนที่รวบรวมได้  ว่าจะต้องกู้เอกราชขับไล่พม่าให้ได้  และจะรวบรวมคนไทยที่ตกกระจัดกระจายกันให้รวมเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง  จึงได้ตั้งข้าหลวงปกครองจันทบุรี  และระยอง  จากนั้นพระองค์ได้นำกองทัพเรือประมาณ ๑๐๐ ลำ  ทหารทหารประมาณ ๕,๐๐๐ คน  ยกมาทางปากน้ำสมุทรปราการ  มาถึงธนบุรีได้ปะทะกับกองทหารที่มี นายทองอิน คนไทยซึ่งพม่าแต่งตั้งให้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเขตนั้นส่งให้พม่าที่อยู่อยุธยา  ได้จับนายทองอินแล้วให้ประหารชีวิตเสีย  พระองค์ได้สั่งให้หลวงพิชัยอาสายกทัพขึ้นเหนือ  ได้ปะทะกับทัพของสุกี้พระนายกอง  ได้ต่อสู้กันเป็นเวลานานถึง ๒ วัน  สุกี้พระนายกองเสียชีวิตในที่รบบริเวณค่ายโพธิ์สามต้น  ซึ่งเป็นค่ายที่สุกี้พระนายกองควบคุมเพื่อจับผู้คนชาวไทย  ทรัพย์สินต่าง ๆ ส่งไปยังพม่า  เมื่อค่ายโพธิ์สามต้นแตก  ทัพไทยก็มุ่งเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา  บรรดาเชื้อพระวงศ์  ข้าราชการ ประชาชนได้ต้อนรับนอบน้อมยกย่องพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นเป็นผู้นำ  พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงตั้งพลับพลาพักในพระนคร  ได้ทรงช้างตรวจดูความเสียหายทั่วพระนคร  ซึ่งพม่าทำลายเสียหายหนักมาก

 

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21  

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

"วัดราชคฤห์วรวิหาร" ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๔  ถนนเทอดไท    แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี   กรุงเทพมหานคร 
 Tel:02-4652908 ::.Created On:: Wed, Nov,17, 2004::.Time::07:19.Am.::
ดูแลเว็บโดย.... webmaster@luangpochom.com::webmaster@watrajkrueh.com

 

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด 14/05/2562 10:25:57

luangpochom