-
พม่าตีเมืองพิชัย
ครั้งที่ ๒
-
เมื่อต้นปีมะเส็ง
พ.ศ. ๒๓๑๖
พวกเมืองเวียงจันทน์เกิดวิวาทกันอีก
เมืองเวียงจันทน์เคยขอกำลังพม่ามาช่วย
เมื่อคราวเจ้าหลวงพระบางมาล้อมเมืองเมื่อก่อน (พ.ศ.
๒๓๑๕) คราวนี้พวกหนึ่งจึงให้ไปบอกโปสุพลาที่เมืองเชียงใหม่
ขอกำลังพม่าไปช่วยอีก
โปสุพลายก
กองทัพไประงับวิวาทค้างฤดูฝนอยู่ที่เวียงจันทน์เกิดไม่ไว้ใจเจ้าบุญสารเจ้านครเวียงจันทน์
จึงบังคับให้ส่งบุตร
ธิดา กับเสนาบดี
ผู้ใหญ่เป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองอังวะ
ครั้นสิ้นฤดูฝน
โปสุพลาได้ยกกองทัพกลับจากเมืองเวียงจันทน์
จึงเลยมาตีเมืองพิชัย
-
สาเหตุที่โปสุพลาเลยมาตีเมืองพิชัยคราวนี้
อาจจะเป็นด้วยสาเหตุ
๒ ประการ
คือ
-
๑. ทำนองโปสุพลาจะทราบความมาจากเมืองอังวะว่า
พระเจ้ามังระ (กษัตริย์พม่า)
ทรงหวังจะให้ตนเป็นแม่ทัพยกลงมาตีกรุงธนบุรี
โปสุพลาจึงประสงค์จะทดลองฝีมือไทยว่ารบพุ่งเข้มแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือไม่ด้วยเชื่อว่ารี้พลของตนได้รบพุ่งชำนาญศึกเคยมีชัยชนะตีเมืองหลวงพระบางมาแล้วคงจะได้ชัยชนะไทยที่เมืองพิชัยอีก
-
๒. โปสุพลามีความอัปยศอดสู
ที่รี้พลของตนมาแตกหนีไป
คือพ่ายแพ้เมืองพิชัยเมื่อ
พ.ศ. ๒๓๑๕
จึงหวังที่จะแก้แค้นให้ได้
-
พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง
พ.ศ. ๒๓๑๖
โปสุพลาก็ยกกองทัพมาหมายจะตีเมืองพิชัยอีก แต่คราวนี้ฝ่ายไทยรู้ตัวก่อน
ด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ พระยาพิชัย
คาดว่าพม่าคงจะยกทัพมาอีกให้คอยระวังสืบสวนอยู่มิได้ประมาท
ครั้นรู้ว่าโปสุพลายกกองทัพมา
ก็ชวนกันยกกองทัพไปตั้งซุ่มสกัดอยู่
ณ ที่ชัยภูมิในกลางทาง
กองทัพพม่ายกมาถึง
เจ้าพระยาสุรสีห์
(เจ้าเมืองพิษณุโลก)
กับพระยาพิชัยออกระดมตีได้รบกันเป็นสามารถ
ฝ่ายไทยได้ที่ชัยภูมิได้เปรียบพม่าก็ตีทัพโปสุพลาแตกกลับไป
เมื่อวันอังคาร เดือนยี่
แรม ๗ ค่ำ ปีมะเส็ง
พ.ศ. ๒๓๑๖
-
การศึกครั้งนี้
พระยาพิชัยจับดาบสองมืออันดาดด้ายแน่น
ในขณะที่คุมทหารเมืองพิชัยออกไล่แทงพม่าอยู่อย่างชุลมุนนั้น
เผอิญเท้าของพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเซล้ม
จึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อไม่ให้ล้ม
ดาบจึงหักไปเล่มหนึ่ง
พม่าเห็นพระยาพิชัยดาบหักเช่นนั้น
ก็ถลันหน้าปราดเข้ามาจ้วงฟัน
ทันใดนั้นหมื่นหาญณรงค์ (บุญเกิด)
นายทหารคู่ชีวิตของพระยาพิชัยก็ทะลึ่งเข้ารับดาบพม่าผู้นั้น
มิทันที่พม่าจะทำร้ายพระยาพิชัยได้
พม่าผู้นั้นก็เสียท่าถูกหมื่นหาญณรงค์ฟันตาย ก็พอดีมีกระสุนปืนของพม่ายิงมาถูกหมื่นหาญณรงค์
ตรงอกทะลุหลัง
ล้มฟุบลงขาดใจตายในขณะนั้นทันที
-
พระยาพิชัยเห็นหมื่นหาญณรงค์ถูกปืนข้าศึกตายดังนั้น
ก็ตกใจอาลัยหมื่นหาญณรงค์
เพื่อนยากยิ่งนัก
จึงบันดาลโทสะเข้าไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง
โดยไม่คิดแก่ชีวิตในที่สุดด้วยความพร้อมใจกันของทหารเมืองพิชัย
และทหารเมืองพิษณุโลกที่ยกเข้ามาช่วย
ก็ช่วยกันเข่นฆ่าตะลุมบอนฆ่าฟันพม่าในระยะเวลาไม่นานนัก พม่าก็ต้านทานไม่ไหว
จึงแตกฉานซ่านเซ็นถอยทัพกลับไป
จากการปะทะกับพม่าในครั้งนี้
พระยาพิชัยได้ต่อสู้อย่างทรหดแกล้วกล้ายิ่งนัก ด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง
โดยมิคิดแก่ชีวิตด้วยวีรกรรมในครั้งนั้นพระยาพิชัยจึงได้สมญาว่า
พระยาพิชัยดาบหัก
เป็นที่เลื่องลือชาปรากฏนามนี้มาถึงปัจจุบันนี้
-
เมื่อได้รับชัยชนะไล่พม่าให้แตกถอยไปไม่เป็นขบวนแล้ว
พระยาพิชัยได้สั่งให้ทหารตามตีเข่นฆ่าพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก
จากนั้นพระยาพิชัยก็วิ่งมาหาศพหมื่นหาญณรงค์ เมื่อพบศพแล้วได้คุกเข่าลงกอดศพหมื่นหาญณรงค์
พลางร้องไห้รำพึงรำพันถึงความทุกข์ยากลำบากตรากตรำมาด้วยกันด้วยความเศร้าโศกอาลัยในหมื่นหาญณรงค์