ตีเมืองพิษณุโลก

                        เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชา  ทรงจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงเสด็จยกพัทกลับกรุงธนบุรี  ขณะที่ยกทัพกลับ  กองทัพพม่าได้ยกมาเพื่อตีกรุงธนบุรีอีกโดยเข้าทางกาญจนบุรี  จึงทรงรับสั่งให้พระยาพิชัยดาบหักรีบไปสกัดทัพพม่าไว้  ได้ปะทะกันอย่างหนักที่บางนางแก้ว  ฝ่ายไทยล้อมพม่าไว้อย่างหนาแน่นและเป็นเวลานานวัน  พม่าขาดเสบียงอาหารจึงยอมจำนนยอมให้จับเป็น  แม่ทัพพม่าที่ยอมจำนน  คือ  งุยอคุงหวุ่น  จากนั้นพระยาพิชัยดาบหักได้นำกำลังทหารเข้าโจมตีพม่าที่ปากแพรกและเขาชงุ้ม  ทัพพม่าก็แตกหนีกระเจิงไปอีก

                        ทางเชียงใหม่  โปมะยุง่วนกับโปสุพลาที่เอาตัวรอดจากกองทหารของพระยาพิชัยไปได้  ได้รวบรวมกำลังพลที่พม่าแล้วยกมาตีเชียงใหม่  เมื่อฝ่ายไทยทราบข่าวศึกพระยาจักรี (ทองด้วง)  และเจ้าพระสุรสีห์ (บุญมา)  รีบยกทัพไปป้องกันเชียงใหม่ไว้  ขับไล่พม่าไปจนถึงเชียงแสน  พม่าไม่ละความพยายาม  คิดจะตีไทยให้ได้  จึงสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ยกกำลังทหารมา ๒๐,๐๐๐ คน  เข้าสู่เมืองตากมุ่งตีพิษณุโลก  เพื่อตัดแบ่งผืนแผ่นดินไทย  เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์  ต้องรีบนำกำลังจากเชียงใหม่เพื่อมาป้องกันพิษณุโลกไว้  ได้ปะทะกับฝ่ายพม่าที่สุโขทัย  กำลังฝ่ายไทยมีน้อยกว่าจึงแตกและถอยร่นเข้าเมืองพิษณุโลก  ขณะนั้นพม่ายึดเมืองตาก  สุโขทัย  สวรรคโลก  และเมืองพิชัยไว้ได้แล้ว

                        พม่าพยายามตีเมืองพิษณุโลกอยู่เป็นหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถจะตีได้  ทำให้อะแซ
หวุ่นกี้เกิดความสงสัยและประทับใจในฝีมือของเจ้าพระยาจักรี  ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบป้องกันพิษณุโลกในขณะนั้น  จึงขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี  และทำนายว่าต่อไปในภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์  เมืองพิษณุโลกเมื่อถูกพม่าล้อมอยู่หลายวันจึงขัดสนเสบียงอาหาร  เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์เห็นว่าคงจะรักษาพิษณุโลกไว้ต่อไปไม่ได้จึงนำกำลังทหารตีฝ่าวงล้อมพม่าไปอยู่บางข้าวตอก

                        เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบเรื่องข่าวศึกตีพิษณุโลก  จึงรับสั่งให้พระยาพิชัยดาบหักรีบนำกำลังขึ้นไปช่วย  แต่เหตุการณ์ในพม่ายุ่งเหยิง  กษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์  อะแซหวุ่นกี้  แม่ทัพผู้ชรา  แต่เก่งในทางรบของพม่า  จึงรีบยกทัพกลับพม่าพร้อมด้วยทหารพม่าทุก ๆ หน่วย  เมื่อพม่าถอนตัวออกจากหัวเมืองต่าง ๆ  ในภาคเหนือแล้ว  เมืองต่าง ๆ  จึงอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก  เพราะพม่าเผาผลาญทำลายอย่างไร้ความปรานี  ในขณะที่ถอยทัพกลับนั้นพม่ายังเข้ายึดเมืองตากไว้อีก  ทำการปล้นสดมภ์  ฆ่าฟันคนไทยอย่างป่าเถื่อน

                        สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  จึงโปรด ฯ  ให้พระยาพิชัยดาบหักไปขับไล่  พระยาพิชัยดาบหักได้นำกำลังทหารเข้าตีพม่าที่เมืองตาก  พม่าล้มตายลงเป็นจำนวนมาก  สามารถจับเป็นได้ถึง ๔๙ คน  จึงจัดส่งมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่กรุงธนบุรี

ต้นสกุล “วิชัยขัทคะ”

                        เพราะต้องตรากตรำกรำศึกมาตลอดรัชกาล  เมื่อมาถึงในตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้เริ่มใฝ่พระทัยในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น  และสนพระทัยในการศึกษาทางวิปัสสนาธุระ  บำเพ็ญพระกรรมฐานอยู่เสมอ  ทรงสำคัญพระองค์ว่าบรรลุโสดาบันและทรงคิดว่าถ้าวิปัสสนาต่อไปแล้วสามารถจะทำการเหาะเหิรเดินอากาศได้  แม้พระทัยที่เคยเยือกเย็น  สุขุมคัมภีรภาพเปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตากรุณาก็เปลี่ยนแปลงไปทรงฉุนเฉียวดุเดือดอยู่เนือง ๆ มักจะตรัสเรียกพ่อค้าแม่ค้ามารับฟังคำทำนายโชคชะตาว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ถ้าผู้ใดรับว่าเป็นความจริงดั่งที่ทรงทำนายก็จะปล่อยตัวไป  ผู้ใดว่าไม่จริงก็จะซักไซร้ไล่เรียงเป็นการเสียเวลามากและทรงพิโรธขึ้นด้วย  ทำให้ใครที่รับคำทำนายต่างบอกว่าจริงไปเกือบทุกคน

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21  

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

"วัดราชคฤห์วรวิหาร" ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๔  ถนนเทอดไท    แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี   กรุงเทพมหานคร 
 Tel:02-4652908 ::.Created On:: Wed, Nov,17, 2004::.Time::07:19.Am.::
ดูแลเว็บโดย.... webmaster@luangpochom.com::webmaster@watrajkrueh.com

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด 14/05/2562 10:19:07

luangpochom