พม่าตีเมืองพิชัย
ดังนั้น ในต้นปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงใช้เมืองพิชัยเป็นที่รวมพลได้กำลังทหารทั้งหมด ๑๕,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ เดินทัพไปทางสวรรคโลก เมืองเถิน เมืองลี้ ได้มีเจ้าเมืองแพร่ คือ พระยาแพร่มังชัย เข้ามาสวามิภักดิ์ช่วยกองทัพไทยด้วย จึงได้โปรดพระราชทานความดีความชอบแต่งตั้งมังชัย (ซึ่งเป็นพม่า) ให้เป็น พระยาศรีสุริวงศ์ แล้วยกทัพมาจนถึงเมืองลำพูน
ฝ่ายโปมะยุง่วนเมื่อเห็นฝ่ายไทยออกมาเร็วเช่นนั้น จึงให้แต่งกองทัพออกมาตั้งค่ายรับศึกนอกเมืองพระยาพิชัย และเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เข้าตีค่ายพม่าแตกยับเยินไป พม่าถอยไปตั้งรับป้องกันไว้ภายในเมือง ฝ่ายไทยพยายามจะหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้ได้แต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเห็นว่าเชียงใหม่มีป้อมปราการที่มั่นคงมาก และทรงทราบถึงคำปรัมปรา ซึ่งกล่าวกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าเชียงใหม่ต้องตี ๒ ครั้งจึงจะแตก เสบียงอาหารทางฝ่ายไทยก็เหลือน้อยเต็มที ล้อมเชียงใหม่อยู่ ๙ วัน จึงยกทัพกลับ โปมะง่วนเห็นเป็นโอกาสขณะไทยถอยทัพจึงให้เข้าโจมตีทัพหลังไทย ระส่ำระสายมาถึงทัพหลวง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระแสงดาบเข้าสู้พม่าเอง โดยมีพระยาพิชัย (จ้อย) ถวายอารักขาป้องกันพระเจ้าอยู่หัวไว้อย่างใกล้ชิด การรุกรบถึงขั้นตะลุมบอน พม่าต้านทหารฝ่ายไทยไว้ไม่ได้จึงแตกทัพถอยกลับไป ฝ่ายไทยได้มารวมพลเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง ทรงให้ตั้งค่าและตำหนักทัพพลับพลาที่หาดทรายฝ่ายฟากตะวันออกตรงข้ามหน้าเมืองพิชัย พระยาพิชัย (จ้อย หรือทองดี ฟันขาว) ได้มีโอกาสนำแม่คุณใหญ่มารดาและรำยงภริยาเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้เข้าเฝ้าด้วยความเมตตา ซึ่งแม่คุณใหญ่และคุณหญิงรำยงปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นยิ่งนัก เมื่อทรงสนทนากับพระยาพิชัยพอสมควรแล้ว ก็ได้เสด็จกลับกรุงธนบุรีโดยทางชลมารค
๕. พม่าตีเมืองพิชัย
เรื่องราวเกี่ยวกับพม่าตีเมืองพิชัยนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ไทยรบพม่า ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ ๑
ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ ที่กรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าสุริยวงศ์ซึ่งเป็นเจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้วิวาทกับเจ้าบุญสารซึ่งเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์ เจ้าหลวงพระบางได้ยกกองทัพลงมาตีเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์เกรงจะสู้พวกเมืองหลวงพระบางไม่ไหว จึงทูลให้พระเจ้าอังวะยกกำลังมาช่วย ขณะนั้นพม่าเพิ่งเสร็จศึกกับจีน กษัตริย์พม่าจึงให้ชิกชิงโบเป็นกองหน้า โปสุพลาเป็นแม่ทัพคุมกองทัพพม่ารวมจำนวน ๕,๐๐๐ คน มาช่วยเวียงจันทน์ฝ่ายหลวงพระบางซึ่งเป็นกำลังล้อมเวียงจันทน์อยู่นั้น พอทราบว่า พม่ากำลังมาช่วยเวียงจันทน์ก็รีบถอยทัพกลับไปรักษาเมืองหลวงพระบางไว้ เพราะเกรงว่าพม่าจะยกไปตีหลวงพระบางก็ได้ เพราะเมืองหลวงพระบางอยู่ต้นทางที่พม่าจะยกไปเมืองเวียงจันทน์ โปสุพลาได้ยกเข้าตีหลวงพระบาง เจ้าสุริยวงศ์สู้ไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อม กษัตริย์พม่าได้สั่งให้โปสุพลาว่าเมื่อตีเมืองหลวงพระบางได้แล้วยังไม่ให้กลับไปพม่า สั่งให้ลงมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่คอยป้องกันเมืองเพราะไทยอาจยกขึ้นไปตีอีก โปสุพลาจึงเดินทัพมาทางเมืองน่าน ครั้นมาใกล้แดนไทยทำนองจะเป็นเพราะโปสุพลาอยากใคร่อวดฝีมือทหารของตน ข่มโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ด้วยความรู้ว่าโปมะยุง่วนเคยมาเสียทีไทยที่เมืองสวรรคโลก จึงแบ่งกองทัพพม่าให้ชิกชิงโปนายทัพหน้า คุมมาตีเมืองไทยที่ปลายแดนชิกชิงโปยกเข้ามาที่เมืองลับแลไม่มีใครต่อสู้ก็ได้เมืองลับแลได้โดยง่าย พม่าเก็บทรัพย์จับผู้คนได้ที่เมืองลับแลไม่พอต้องการจึงยกเลยเข้ามาตีเมืองพิชัย เมื่อฤดูแล้งปลายปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕ รี้พลเมืองเมืองพิชัยเวลานั้นยังมีน้อยพระยาพิชัยจึงรักษาเมืองมั่นไว้ยังไม่ออกรบ มีใบบอกมาขอกำลังเมืองพิษณุโลกให้ขึ้นไปช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เจ้าเมืองพิษณุโลกรีบเกณฑ์กองทัพยกไปช่วยเมืองพิชัย ขณะนั้นพม่าตั้งค่ายอยู่ที่วัดเอกา กองทัพพิษณุโลกขึ้นไปถึงก็เข้าตีค่ายพม่า ฝ่ายพระยาพิชัยก็ยกทัพออกมาตีกระหนาบอีกด้านหนึ่ง ได้รบพุ่งกันถึงใช้อาวุธสั้นฟันแทงเป็นตะลุมบอนกองทัพพม่าต้านทานไม่ไหวก็แตกหนีไปเมืองเชียงใหม่
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21
เวลา..วันที่..ขณะนี้...
"วัดราชคฤห์วรวิหาร" ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๔ ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด 14/05/2562 10:18:15